วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิเคราะห์บทเพลงกับภาพสะท้อนสังคม หนาวแสงนีออน



เนื้อเพลง: หนาวแสงนีออน
มองดาวใสผ่านใจเต็มฝัน คนอยู่ทางบ้านจะรู้หรือเปล่า
คืนนี้มีหนึ่งคนเหงา ฝากคำกับดาวบอกว่ายังห่วง
ในวันที่นกบินแรมทาง โบกปีกคว้างอยู่กลางเมืองหลวง
พกความรู้ต่ำกับดวง ติดตามถามทวงหนทางสร้างฝัน


อยู่ห้องเช่ากินข้าวริมทาง ทำงานรับจ้างได้ตังค์นิดหน่อย
คือความจริงที่ท้าให้ถอย แต่ใจดวงน้อยไม่ยอมไหวหวั่น
ความฝันและคำสัญญา ก่อนหักใจลาบ้านเราวันนั้น
ความหมายไม่เคยแปรผัน ยังเชื่อสักวันฟ้าคงเข้าข้าง


อยู่บ้านเรายามหนาวก็หนาวแค่เพียงกาย
ข้างกองไฟยังมีไออุ่น
กลับจากนายังหอมละมุน กรุ่นดอกราตรีลอยลมข้างทาง
อยู่เมืองหลวงยามเหงาทนหนาวโดยเดียวดาย
ตากแสงไฟนีออนก็ไม่สร่าง
ดั่งเศษดาวลอยในฟ้ากว้าง พรุ่งนี้เส้นทางจะเป็นอย่างไร


หลับตาฝันถึงภาพบ้านเรา ยังเห็นยอดพร้าวไหวในแสงเดือน
ลมหนาวคืนนี้ย้ำเตือน ผ่านอีกหนึ่งเดือนแล้วในเมืองไกล
เฝ้าฝันถึงวันได้ดี มีงานที่ตามวาดหวังไว้
คือวันหนึ่งที่หัวใจ จะหอบรักไปซบอุ่นไอดิน


อยู่บ้านเรายามหนาวก็หนาวแค่เพียงกาย
ข้างกองไฟยังมีไออุ่น
กลับจากนายังหอมละมุน กรุ่นดอกราตรีลอยลมข้างทาง
อยู่เมืองหลวงยามเหงาทนหนาวโดยเดียวดาย
ตากแสงไฟนีออนก็ไม่สร่าง
ดั่งเศษดาวลอยในฟ้ากว้าง พรุ่งนี้เส้นทางจะเป็นอย่างไร


หลับตาฝันถึงภาพบ้านเรา ยังเห็นยอดพร้าวไหวในแสงเดือน
ลมหนาวคืนนี้ย้ำเตือน ผ่านอีกหนึ่งเดือนแล้วในเมืองไกล
เฝ้าฝันถึงวันได้ดี มีงานที่ตามวาดหวังไว้
คือวันหนึ่งที่หัวใจ จะหอบรักไปซบอุ่นไอดิน
คือวันหนึ่งที่หัวใจ จะหอบรักไปซบอุ่นไอดิน

ผู้ประพันธ์ วสุ ห้าวหาญ 
ทำนองดนตรี จิตติพล บัวเนียม
นักร้อง ชลดา หรือชลดา


วิเคราะห์ด้านสังคมของเพลง หนาวแสงนีออน
                เพลงหนาวแสงนีออนเป็นเพลงจากอัลบั้มชุดแรก หนาวแสงนีออนของ ตั๊กแตน ชลดา หรือชลดา ทองจุลกลาง วางแผงเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 ได้รับความนิยมไปทั่วบ้านทั่วเมืองส่งผลให้ตั๊กแตน ชลดามีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งผู้ประพันธ์เพลงหนาวแสงนีออน คือ วสุ ห้าวหาญ ศิลปินนักประพันธ์เพลงแนวลูกทุ่งเพื่อชีวิตและแต่งทำนองดนตรีโดย จิตติพล บัวเนียม
                เพลงหนาวแสงนีออนสะท้อนภาพสังคมของชาวชนบทที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงนัก และโดยส่วนใหญ่มีค่านิยมในการเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครแต่เมื่อเข้ามาอยู่แล้วก็ไม่ได้สบายอย่างที่คิดหากแต่นอกจากความลำบากที่ต้องเผชิญแล้วยังต้องต่อสู่กับสภาพสังคมคนเมืองรวมถึงความรู้สึกคิดถึงบ้านอีกด้วย
ในเพลงนี้พูดถึงความเหงา ว้าเหว่และคิดถึงบ้านของสาวบ้านนอกที่หนีความยากจนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เกิดความเหงา เหนื่อยล้ากับความเป็นจริงของการใช้ชีวิตในกรุงเทพที่ต้องปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่ออยู่รอด แสงจากหลอดไฟนีออนก็ไม่ช่วยให้อุ่นได้ ทำให้หวนคิดถึงบ้านต่างจังหวัดที่ถึงแม้จะยากจนและลำบากไปบ้างแต่ข้างกองไฟยังมีพ่อแม่ญาติพี่น้องอยู่ด้วยกัน เป็นกำลังใจให้กันและกัน
                เพลงหนาวแสงนีออนเป็นเพลงที่สะท้อนภาพสังคมได้ในหลายๆด้าน อาทิ ด้านค่านิยม ด้านเศรษฐกิจ ด้านธรรมชาติ ด้านวิถีชีวิตและด้านการศึกษา
ด้านค่านิยม สะท้อนค่านิยมของคนต่างจังหวัดที่มักจะเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แม้ในบางครั้งก็ไม่อยากจากบ้านมาแต่เพราะความเชื่อว่าการมาทำงานในกรุงเทพฯจะช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้  ในประโยคที่ว่า
“ในวันที่นกบินแรมทาง โบกปีกคว้างอยู่กลางเมืองหลวง พกความรู้ต่ำกับดวง ติดตามถามทวงหนทางสร้างฝัน” และ “คือความจริงที่ท้าให้ถอย แต่ใจดวงน้อยไม่ยอมไหวหวั่น”

ด้านเศรษฐกิจ สะท้อนด้านภาวะทางเศรษฐกิจของคนในชนบทที่เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯว่ามีความลำบาก ทำงานเงินเดือนก็ไม่มากนัก ในประโยคที่ว่า  “อยู่ห้องเช่ากินข้าวริมทาง ทำงานรับจ้างได้ตังค์นิดหน่อย”

ด้านธรรมชาติ สะท้อนด้านธรรมชาติของต่างจังหวัด ในประโยคที่ว่า  “หลับตาฝันถึงภาพบ้านเรา ยังเห็นยอดพร้าวไหวในแสงเดือน”

ด้านวิถีชีวิต สะท้อนวิถีชีวิตของชาวชนบท ที่มีการก่อกองไฟผิงไฟกันหนาว วิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับท้องทุ่งนา ในประโยคที่ว่า “ข้างกองไฟยังมีไออุ่น กลับจากนายังหอมละมุน กรุ่นดอกราตรีลอยลมข้างทาง”

ด้านการศึกษา สะท้อนด้านการศึกษาของคนชนบทที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงนัก มักจะเขามาทำงานในกรุงเทพฯเพื่อความอยู่รอด ในประโยคที่ว่า  “ในวันที่นกบินแรมทาง โบกปีกคว้างอยู่กลางเมืองหลวง พกความรู้ต่ำกับดวง ติดตามถามทวงหนทางสร้างฝัน”


 ผลงานนักศึกษา นางสาว ภัทรณรินทร์  กองงาม

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แนะนำหนังสือน่าอ่าน

หนังสืออ่านนอกเวลา ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ (ปี ๒๕๕๔)

ไม่รู้เลยว่ารัก


ผู้แต่ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อายุ ๗๓ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโต และผู้ชายคนเดียวในจำนวนที่น้องทั้งหมด คน ของนายฮกหรือสมบัติและนางสมใจ (เก้าวงศ์วาร) พงษ์ไพบูลย์ บิดาเป็นหลงจู๊ โรงฝิ่น แต่ภายหลังบิดากับมารดาหย่าร้างกัน สมรสกับ นาง ประคองกูล อิศรางกูร ณ อยุธยา
                ศึกษาที่ โรงเรียนวิสุทธรังษี โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และปริญญาศิลปศาสตร์กิตติมศักดิ์จากสหวิทยาลัยทราวดี (วิทยาลัยครูกาญจนบุรี)
                เริ่มงานเขียนครั้งแรกเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากได้พบโคลงที่บิดาเขียนไว้เมื่อครั้งยังหนุ่ม จึงอยากเขียนได้เช่นนั้นบ้าง ผลงานมีทั้ง ร้อยกรอง และร้อยแก้ว เมื่อเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยอยู่ชุมนุมวรรณศิลป์มาก่อน
·       เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับรางวัลซีไรต์จากกวีนิพนธ์รวมเล่มเรื่องเพียงความเคลื่อนไหว
·       เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

                                หนังสือ ไม่รู้เลยว่ารักของ นวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นการบรรจุบทประพันธ์ที่ตีพิมพ์ในวาระต่างๆ ทั้งสิ้น ๙๕ เรื่อง ล้วนแต่บรรจุอารมณ์รักไว้ในตัวอักษร
                        เนื้อหาเกี่ยวกับความรัก มีทั้งรักของหนุ่มสาวที่จบแบบสมหวังไปจนถึงรักที่จบแบบอกหัก ช้ำรัก ความรักแบบพอเพียง รักพ่อ รักชาติ รักสถาบัน รักเพื่อนร่วมโลก รักธรรมชาติ รักเจ้ากรรมนายเวร ไปจนถึงรักสุนัข ความรักอบอวลไปทั้งเล่ม
                        ภาษาที่ใช้ไม่ได้อลังการหรูหรา แต่กลับเรียบและง่าย เล่นคำ เล่นพยัญชนะ เล่นเสียง ด้านฉันทลักษณ์ถูกต้อง ไพเราะมีสัมผัสนอก สัมผัสใน จะเป็นการใช้คำเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของท่านเนาวรัตน์


แฟนพันธุ์แท้ ปี 2012 - สุนทรภู่

สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ "สุนทรภู่"
แฟนพันธุ์แท้ ปี 2012 
ออกอากาศ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การแข่งขันประลองความรู้เรื่องกวีเอกของโลก "สุนทรภู่" ที่คนไทยไม่ควรพลาด นอกจากจะได้รับความรู้ยังแฝงไปด้วยความบันเทิง



ขอบคุณวิดีโอจาก www.youtube.com

วิจารณ์แนวสตรีนิยมในนวนิยายเรื่อง “ฟ้ากระจ่างดาว”

วิจารณ์แนวสตรีนิยมในนวนิยายเรื่อง “ฟ้ากระจ่างดาว”
โดย
ผู้เขียนบทวิจารณ์ :  นางสาว ภัทรณรินทร์ กองงาม
 รหัสประจำตัวนักศึกษา 543410010315
 คณะครุศาสตร์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม


               
                ฟ้ากระจ่างดาว เป็นหนังสือไตรภาคเล่มสุดท้ายของชุด 3 ทหารเสือสาว อันได้แก่เรื่อง มายาตวัน มนต์จันทราและ ฟ้ากระจ่างดาว ประพันธ์โดย กิ่งฉัตร นามปากกาของ ปาริฉัตร ศาลิคุปต นักเขียนมากความสามารถ ที่นำเอาเรื่องราวด้านมืดของสังคมมาตีแผ่ โดยเฉพาะเรื่องโสเภณีเด็ก ความเชื่อเรื่องผู้ชายดีกว่าผู้หญิง ผู้หญิงต้องปรนนิบัติผู้ชาย การขายตัวเป็นความกตัญญู โดยกิ่งฉัตรได้ถ่ายทอดผ่านตัวละครต่างๆอย่างชัดเจน ข้อมูลบางส่วนมาจากประสบการณ์ที่กิ่งฉัตรเองเคยทำงานผู้สื่อข่าวมาช่วงเวลาหนึ่ง

บทนำ
                เรื่องราวของมีคณานักข่าวสาวสายอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์ สยามสาร ที่มีภูมิหลังชีวิตครอบครัวที่ไม่น่าจดจำนัก มีคณาเกิดจากการชิงสุขก่อนห่ามของ บานเช้า และพ่อของมีคณา อันจะได้ขยายความในการวิจารณ์บทบาทของมีคณา โดยมั่นสิน ป้าของเธอรับเลี้ยงดูแต่ไม่ได้มอบความรักได้เท่าที่ควร จนหนีไปอยู่กับครอบครัวใหม่ของแม่และได้พบความจริงอันโหดร้าย หมู่บ้านเยอรมัน ที่เรียกกันเนื่องจากเด็กสาวในหมู่บ้านมักจะไปขายตัวที่เยอรมันซึ่งเป็นบ้านเกิดของมีคณา เธอถูกบุญสม พ่อเลี้ยงบังคับให้ขายตัวแต่เธอไม่ยอม มีคณาเจ็บปวดกับเรื่องราวของผู้หญิงในหมู่บ้านทำให้มีทัศนคติไม่ดีต่อผู้ชายเท่าไหร่ สุดท้ายมีคณาก็หนีกลับมาอยู่กับป้ามั่นสินเช่นเดิม และปฏิญาณไว้ว่าจะเป็นนักข่าว นำเสนอข่าวของเด็กและสตรีที่ถูกกดขี่ทางเพศ เมื่อเรียนจบมีคณามีโอกาสได้ทำงานเป็นนักข่าวสายอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์สยามสารและได้ตีแผ่ข่าวที่เป็นด้านมืดของสังคมให้ประชาชนได้รับรู้
วันหนึ่ง ธำรง น้องชายต่างมารดาเขียนจดหมายมาขอฝาก สันติหลานชายให้มาเรียนที่กรุงเทพ มีคณารับดูแลสันติอย่างจำใจ ในวันที่มีคณาไปรับสันติที่สถานีรถไฟเธอก็ได้พบกับ สารวัตรหิรัณย์เพราะเธอเขาใจผิดว่าเขาเป็นแมงดา ซึ่งในวันเดียวกันก็ได้พบกับเขาที่สถานสงเคราะห์ตอนกลางวันและงานแฟชั่นตอนเย็น สุดท้ายหิรัณย์กับมีคณาก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันและรู้จักกันมากขึ้น
                สันติเป็นเด็กก้าวร้าว มักมีเรื่องชกต่อยเสมอจนมีคณาผู้เป็นป้าเบื่อหน่ายกับนิสัยของหลานชายและเกิดมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงจนสันติหนีออกจากบ้านและได้หิรัณย์และเพื่อนตำรวจช่วยตามหาจนพบ หลังจากนั้นหิรัณย์ช่วยให้มีคณาและสันติเข้าใจกันมากขึ้น หิรัณย์เป็นคนดี เป็นตำรวจที่ดี จึงไม่แปลกที่นอกจากความสัมพันธ์ของมีคณาและสันติจะดีขึ้น ความสัมพันธ์ของมีคณาที่มีต่อหิรัณย์ก็ดีขึ้นเช่นกัน
                มีคณาเอาตัวเข้าไปเสี่ยงในการทำข่าวบุกซ่องที่มาเลเซียโดยอาศัยช่วงที่หิรัณย์ไปดูงานที่ต่างประเทศ ในที่สุดมีคณาก็ได้พบกับ ธิดาน้องสาวต่างมารดาที่ถูกขายต่อมาที่ซ่องนี้ จึงขอให้ธิดาช่วยและสุดท้ายก็สามารถทลายซ่องนรกได้สำเร็จ และรับธิดามาพักด้วย สันติเองอับอายเพื่อนๆที่มีญาติขายตัวและแสดงท่าทางดูถูกเหยียดหยามธิดาผู้เป็นอาอย่างมาก จนสุดท้ายมีคณาต้องสอนสันติว่า ไม่มีใครอยากขายตัว แต่เพราะธิดากตัญญูต่อพ่อแม่ต่างหากจึงทำธิดาต้องยอมขายศักดิ์ศรีของตัวเอง
                เมื่อเรื่องวุ่นๆจบลง หิรัณย์ก็ขอมีคณาแต่งงาน มีคณาที่ตลอดชีวิตไม่คิดว่าจะเจอผู้ชายแบบหิรัณย์ เขาเปรียบเหมือนดวงดาวที่มากระจ่างฟ้าที่มืดมนอย่างเธอจริงๆ และคิดว่ายังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานไม่มีโอกาสได้เห็นฟ้าที่พร่างพรายด้วยแสงดาวเหมือนเธอ
                ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นการวิจารณ์แนวสตรีนิยม โดยเนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการเหยียดเพศ การทารุณทางเพศ การคุกคามทางเพศ ลูกสาวควรเชื่อฟังและกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้หญิงไม่คัดค้านผู้ชาย ผู้ชายควรได้รับโอกาสมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้าน

บทบาทของผู้หญิงในฟ้ากระจ่างดาว
ฟ้ากระจ่างดาวของ “มีคณา”
หญิงสาวแหงนมองท้องฟ้าด้วยความประหลาดใจ นึกถึงคืนหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน วันที่ซมซานหนีออกมาจากบ้านแม่ นึกถึงเมื่อสองคืนก่อนที่ดาวเริ่มส่องแสงแข่งกับเดือน
สองคืนนั้นกับคืนนี้ต่างกันลิบลับ ต่าง...แม้ว่าจะเป็นท้องฟ้าเดิม ดาวดวงเดิม หากวินาทีนี้เมื่อก้าวเดินไปกับชายหนุ่ม มีคณากลับไม่รู้สึกเจ็บปวด หวาดกลัว หรือคุมแค้นแต่อย่างไร ทุกย่างก้าวมีแต่ความมั่นใจและอบอุ่น ความมั่นใจแปลก ๆ เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยรู้สึก ว่าทุกย่างก้าวต่อไปนี้หล่อนคงไม่ต้องเดินอย่างเดียวดาย คงไม่ต้องเดินอย่างอ้างว้าง (กิ่งฉัตร,2555: คำโปรย)

                “มีคณา เป็นหนึ่งในนักข่าวสามทหารเสือสาวประจำหนังสือพิมพ์สยามสาร มีคณาสวมแว่นหนา เป็นคนเงียบๆ อ่อนนอกแข็งใน สุภาพเรียบร้อยแต่มีความเข็มแข็งไม่แพ้ผู้ชาย ทำงานเก่งแต่มักไม่ค่อยพูดถึงเรื่องตัวเองเพราะมีความทรงจำที่ไม่ดีในอดีต ซึ่งนวนิยายฟ้ากระจ่างดาวดำเนินเรื่องโดยผ่านตัวละครมีคณาเป็นหลัก เรื่องราวจึงเป็นการขยายความเรื่องย่อ
                ครอบครัวของมีคณานั้นอยู่ในหมู่บ้านที่ได้ชื่อว่า หมู่บ้านเยอรมัน สาเหตุที่ได้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะว่าผู้หญิงในหมู่บ้านนี้พอเริ่มแตกเนื้อสาว ก็จะถูกส่งตัวไปขายบริการที่เยอรมัน ดังในบทสนทนาที่ครูอรุณบอกกล่าวครูวีณา
“คุณรู้ไหมว่าหมู่บ้านของสันตินี่ มีนักข่าวบางคนเขาตั้งชื่อให้ว่าหมู่บ้านเยอรมัน” (กิ่งฉัตร,2555: 175)
               
                “บานเช้า” แม่ของมีคณาลักลอบได้เสียกับพ่อของมีคณาที่มาจากกรุงเทพฯ จนตั้งท้องมีคณาขึ้นมาตอนอายุสิบห้า แต่พ่อของมีคณากลับไม่รับผิดชอบ “มั่นสิน” พี่สาวพ่อของมีคณาจึงให้เงินกับครอบครัวของบานเช้าและรับมีคณามาอุปการะแทน มีคณาจึงเป็นเหมือนเด็กที่ไม่มีใครต้องการ ผู้เป็นป้าก็รับเลี้ยงเพราะความจำเป็น ด้านมั่นสินที่เป็นผู้ปกครองของมีคณานั้นมีอาชีพเป็นครู อีกทั้งยังเป็นสาวโสดเจ้าระเบียบ เธอจึงปกครองมีคณาอย่างเข้มงวดเหมือนครูปกครองนักเรียน มีคณาไม่เคยรับรู้ถึงความความรักความอบอุ่นที่แท้จริง เธอจึงได้แต่ฝันถึงครอบครัวแสนสุข ฝันถึงแม่ พ่อเลี้ยงและน้องชายน้องสาวที่เธอไม่เคยมี จนเมื่อครั้งหนึ่งสมัยวัยรุ่นมีคณาทะเลาะกับผู้เป็นป้าอย่างรุนแรง หญิงสาวจึงหนีออกจากบ้านไปหาแม่ที่ต่างจังหวัด เมื่อนั้นเธอจึงได้รู้ว่าความฝันกับความเป็นจริงมักจะสวนทางกันเสมอ
                ตั้งแต่บานเช้าแต่งงานใหม่เพื่อล้างอาย ก็มักถูกสามีขี้เมาซ้อมเช้าซ้อมเย็นเมื่อไม่พอใจ แต่บานเช้าก็ไม่กล้าสู้กลับ เมื่อมีคณาไปอยู่ก็เหมือนมีคนให้ด่าเพิ่มอีกหนึ่ง มีคณาไม่ได้รับความเป็นมิตรจากใครในบ้านเลย ทั้งพ่อเลี้ยง น้องชายน้องสาว มีแต่บานเช้าผู้เป็นแม่เท่านั้นที่เห็นใจมีคณาแต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะบานเช้าเองก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน ในขณะที่ “ธำรง” ลูกชายคนเดียวก็ทำตัวเป็นลูกเทวดา ไม่ว่าเขาต้องการอะไร ทุกคนในบ้านต้องทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการของเขาให้ได้ ที่จริงแล้วสภาพที่ผู้ชายไม่ทำงานทำการ ให้ผู้หญิงเป็นคนคอยหาเลี้ยงครอบครัวแบบครอบครัวของบานเช้านั้นเป็นภาพที่พบเห็นได้ทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้ ส่วนเด็กสาว ๆ ก็จะถูกส่งตัวไปขายบริการทางเพศเพื่อให้พ่อและพี่น้องผู้ชายของตนได้อยู่ดีกินดี มีคณาเองก็เกือบจะถูกส่งไปขายเช่นกัน แต่มีคณาไม่ยอม จึงถูกบุญสมพ่อเลี้ยงดูถูกทั้งมีคณาและแม่ของเธอ จนมีคณาทนไม่ไหวสู้กลับ และถูกตบตีอย่างทารุณซ้ำยัง ดังข้อความที่ว่า

นังมี่นี่ป้ามันเลี้ยงให้สะดิ้งไปอย่างนั้นเอง ลองให้ทำงานสักพักมันก็คงชอบเหมือนกับนังแม่มันนั่นแหละ นังบานเช้ามันก็บานตั้งแต่อายุขนาดนี้เหมือนกัน แร่ไปบานให้พ่อนังมี่กับใครๆเสียทั่ว ลูกไม้มันหล่นไม่ไกลต้นหร้อก...น้ำหน้าอย่างมันเนี้ย พอรู้รสแล้ว จะระรี้ระริก... (กิ่งฉัตร,2555: 19)

บุญสมตบลูกเลี้ยงกลับ ตามด้วยต่อยซ้ำจนแว่นที่มีคณาสวมอยู่กระเด็นตก เด็กสาวถูกเลี้ยงมาโดยไม่มีการลงโทษด้วยการตีแม้แต่แปะเดียวเข่าทรุด กระนั้นพ่อเลี้ยงยังไม่หนำใจ ตามมาซัดซ้ำ (กิ่งฉัตร,2555: 19)

                นอกจากพ่อเลี้ยงที่ทำร้ายร่างกายแล้ว ธำรงน้องชายเทวดายังมาซ้ำรอยช้ำของทั้งร่างกายและจิตใจผู้เป็นพี่สาวด้วยการด่าทอว่าอกตัญญูไปถึงการเตะมีคณาที่เป็นผู้หญิงและเป็นพี่สาวแท้ๆ ถึงแม้จะคนละพ่อก็ตาม
นังดัดจริต ไม่รู้จักบุญคุณแม่ไม่รู้จักเลี้ยงน้อง คนแถวนี้เขาก็ไปขายกันทั้งนั้นแหละ มึงวิเศษนักหรือไงถึงทำไม่ได้ ถุย...สิ้นคำว่าถุย...เท้าของเด็กชายก็ฟาดเข้าสีข้างของพี่สาวไปที ตามด้วย มึงทำเล่นตัวแท้ๆ กูเลยอดได้ของเล่นใหม่เลย (กิ่งฉัตร, 2555: 20)

                เหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงทำให้มีคณาเกลียดผู้ชายและตั้งใจจะไม่ขอเอาชีวิตเขาไปยุ่งเกี่ยวกับผู้ชายเลวๆพวกนั้นอีก คืนนั้นบานเช้าช่วยให้มีคณาหนีกลับกรุงเทพฯ มาหามั่นสินได้สำเร็จ มั่นสินต้อนรับมีคณากลับมา
                 หลายปีผ่านไป มีคณากลับไปร่วมงานศพของพ่อแม่ของบานเช้า จึงได้รู้ว่า “ธิดา” และ “ธารา” น้องสาวต่างพ่อทั้งสองคนของเธอถูกส่งตัวไปขายบริการเรียบร้อยแล้วทั้ง ๆ ที่อายุเพิ่งพ้นความเป็นเด็กได้ไม่กี่ปี ขณะที่พ่อเลี้ยงและน้องชายต่างใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อด้วยเงินที่ธิดาต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด และธาราที่แลกมาด้วยความตาย ส่วนมารดาก็ไม่กล้ามีปากเสียงกับสามีและลูกชายเหมือนเช่นเคย มีคณาเศร้าใจผสมแค้นใจพ่อเลี้ยง อยากจะแจ้งตำรวจไปจับ แต่มั่นสิน ป้าของเธอจึงบอกกับเธอ


ก็สอนกันมาอย่างนั้นนี่ ปลูกผังกันมาผิดๆ หวังสบาย อยากแต่จะรวยทางลัด การเอาตำรวจไปจับไม่มีประโยชน์หรอก จับได้ก็ปล่อย ออกมาเขาก็ส่งลูกสาวกลับไปทำงานอีก ถ้ามี่อยากจะช่วยจริงๆ ต้องล้างความเชื่อเก่าๆให้ได้ ให้ชาวบ้านหมู่บ้านแม่มี่เขารู้ว่าลูกสาวไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่วัตถุที่ซื้อขายเพื่อความสะดวกสบาย แล้วก็สอนให้เด็กผู้หญิงรู้จักค่าของตัวเอง รู้จักทำมาหากินในทางอื่นที่ไม่ต้องขายร่างกายขายศักดิ์ศรีของตัวเอง (กิ่งฉัตร, 2555: 28)
                หลายปีผ่านไป มั่นสินลาออกจากอาชีพครูไปคุมร้านอาหารไทยของเพื่อนที่ต่างประเทศขณะที่มีคณาเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามสาร สองป้าหลานติดต่อกันทางจดหมายเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น               
                มีคณาได้รับจดหมายจากธำรงซึ่งส่งมาขอร้องให้มีคณาช่วยอุปการะ “สันติ” ลูกชายคนเดียวของธำรง เนื่องจากธำรงประสบอุบัติเหตุจนพิการ ส่วนแม่ของสันติก็ต้องไปขายตัวที่เยอรมันเพื่อส่งเงินมาให้สามีและครอบครัวสามีใช้จ่าย มีคณาจำใจยอมรับอุปการะสันติเพราะบานเช้าขอร้องไว้
                เช้าวันที่มีคณาไปรับสันติกับบานเช้าที่สถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น เธอก็ได้พบกับ “หิรัณย์” สารวัตรหนุ่มหล่อแห่งหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดนอกเครื่องแบบแห่งหนึ่ง ด้วยความเข้าใจผิดทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกัน
                สันติ หลานชายคนเดียวของเธอนั้นเป็นเด็กนิสัยก้าวร้าว ชอบมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเป็นประจำจนถูกไล่ออก ทางบ้านจึงต้องส่งตัวมาให้มีคณาเป็นคนดูแล และที่สำคัญสันติมีความเชื่อแบบผิดๆจากปู่และพ่อว่าผู้หญิงเป็นเพศที่โง่ ต้องให้ผู้ชายคอยควบคุม ต้องทำทุกอยากตามที่ผู้ชายสั่ง มีคณาเองก็ปวดหัวกับพฤติกรรมของหลานชายคนนี้จนมีปากเสียงกันบ่อย ๆ ครั้งสุดท้ายที่ทะเลาะกัน มีคณาเข้าใจผิดสันติอย่างรุนแรงจนสันติหนีออกจากบ้านไปมั่วสุมกับกลุ่มเด็กชายที่ขายบริการทางเพศ ยังดีที่หิรัณย์และ “วิมลิน” หมวดสาวเพื่อนตำรวจของหิรัณย์ ยื่นมือเข้ามาช่วยตามหาตัวสันติจนเจอ สองป้าหลานปรับความเข้าใจกัน ทำความเข้าใจกับสันติให้มองผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน ไม่มีใครดีกว่าใครด้วยความช่วยเหลือของหิรัณย์และครอบครัวของเขาสันติติดหิรัณย์มากเพราะอยากเป็นคนในเครื่องแบบ หิรัณย์จึงสอนให้สันติค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่จนกระทั่งพฤติกรรมของสันติดีขึ้นจากแต่ก่อนมาก ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของหิรัณย์กับมีคณาก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน
                มีคณามีความคิดที่จะทำสกู๊ปเส้นทางการลักลอบพาหญิงสาวไปค้าประเวณีที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่เธอจะแฝงตัวทำทีเป็นนักศึกษายากจนที่ต้องการทำงานหาเงินใช้ หญิงสาวรู้ดีว่าหิรัณย์จะต้องไม่ยอมอย่างแน่นอน จึงรอเวลาที่สารวัตรหนุ่มเดินทางไปดูงานที่อเมริกาถึงค่อยดำเนินการตามแผน มีคณาสามารถแฝงตัวไปกับขบวนการได้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือของ “ทัพขันธ์” และ “สุนันทา”
                เมื่อไปถึงซ่องที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีคณาก็ได้พบกับธิดาโดยบังเอิญ มีคณาขอร้องให้ธิดาช่วยเหลือเด็กสาวที่ถูกจับไปขายบริการ ธิดาเริ่มเบื่อกับการใช้ชีวิตคาวโลกีย์เต็มที แต่ถ้าจะให้กลับไปบ้านก็ไม่รู้จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไร มีคณาเกลี้ยกล่อมธิดาจนธิดายอมช่วยเหลือทางการทลายซ่องได้สำเร็จ โดยมีหิรัณย์เป็นผู้นำกำลังตำรวจบุกเข้ามาช่วยเหลือมีคณาด้วยความร้อนใจ ธิดาตกลงกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยไม่ข้องแวะกับการขายบริการอีก
                ชีวิตของมีคณาประสบแต่เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศ การถูกกดขี่ของผู้หญิงจากผู้ชาย ปัญหาเด็กหญิงถูกค่าประเวณี ถูกทารุณกรรมจนที่ผ่านมาเธอมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ชายเท่าและไม่เคยคิดที่จะมีความรักกับชายคนไหน เพราะมีคณาเองจมอยู่กับอดีตที่เจ็บปวด ไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นอย่างแท้จริง กระทั่งมีคณาได้พบหิรัณย์ เขาเป็นผู้ชายที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่เธอเคยเจอมา หิรัณย์สุภาพ ให้เกียรติทุกคนและเชื่อว่าหญิงและชายเท่าเทียมกัน มองโลกในแง่ดีแต่จริงจังกับการใช่ชีวิต ชายหนุ่มเปรียบเสมือนดวงดาวที่ส่องสว่างกระจ่างฟ้าที่มืดมน ช่วยให้มีคณาสามารถก้าวผ่านความทรงจำอันเลวร้ายในอดีตไปได้ เธอจึงมั่นใจที่จะก้าวต่อไปพร้อมกับเขาและตอบรับการแต่งงานด้วยความยินดีในที่สุด

“บานเช้า” สตรีผู้เสียสละ
                “สภาพของหล่อนในบ้านเหมือนไม่ใช่เมียไม่ใช่แม่ หากเป็นทาสที่คุณค่าชีวิตต่ำสุด เป็นทั้งแรงงาน ทำงานทุกอย่างตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เป็นทั้งกระโถนท้องพระโรงคอยรับรองโทสะของพ่อเลี้ยงเวลาเขาเมา” (กิ่งฉัตร,2555: 15)
               
                บานเช้า  หญิงวัยกลางคนที่อายุยังไม่ถึงห้าสิบดี แต่ผมบนศีรษะเริ่มมีสีขาว หลังงองุ้ม ใบหน้าแห้งกร้าน ดูแก่กว่าวัยเพราะต้องทำงานปรนนิบัติลูกชายและสามีมาตลอดทั้งชีวิต ไม่ว่าจะงานบ้านตั้งแต่ กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้าทำกับข้าวไปจนถึงรับจ้างทำงานในไร่ เพื่อหาเงินมาปรนเปรอ บุญสม สามีขี้เมาที่มักจะเอาเงินไปลงขวด พอเมากลับมาก็จะด่าบานเช้าสาดเสียเทเสียไปจนถึงทำร้ายทุบตี

พ่อเลี้ยงของหล่อนก็เมาทุกวัน เมาเช้าเมาเย็นเสียด้วย ถ้าเกิดมีอะไรไม่ได้ดั่งใจเขาก็ด่ากราด...ด่าทุกคนในบ้าน ยกเว้นลูกชายคนโตที่หวังไว้ว่าอนาคตจะได้ เกาะชายผ้าเหลืองไปสวรรค์ ถ้าด่าไม่หนำใจก็ใช้บานเช้าเป็นกระสอบทราย ทั้งระบายอารมณ์และทดสอบพลังของแข้งและกำปั้น (กิ่งฉัตร,2555: 16)

                แม้แต่ ธำรง ลูกชายที่เธอเลี้ยงดู ปรนนิบัติประหนึ่งเป็นเทวดาประจำบ้านยังไม่เคยให้ความเคารพบานช้าผู้เป็นแม่ บานเช้าเป็นได้เพียงกระโถนท้องพระโรงของลูกชายและสามีเท่านั้น

ธำรงไม่เคยเห็นบานเช้าในสายตา ไม่รัก ไม่แคร์ แม่ในความรู้สึกของเขาคือทาสในเรือนเบี้ย มีหน้าที่ขานรับเมื่อเขาเรียกหา มีหน้าที่รับใช้เมื่อเขาต้องการ แม่คือคนที่อำนวยความสะดวกให้แก่เขา คือกระโถนท้องพระโรงไว้รองรับอารมณ์บูดเสีย (กิ่งฉัตร,2555: 269 – 270)
               
            ไม่ว่าบานเช้าจะถูกทำร้ายทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจจากลูกชายและสามีมากแค่ไหนแต่เธอยังคงก้มหน้าก้มตารับใช้พวกเขาด้วยความรักความภักดีเสมอมา แม้ว่ามีคณาผู้เป็นลูกสาวจะพูดเชิงตำหนิและไม่เห็นด้วยมากแค่ไหน แต่ใจรักที่มีต่อลูกและสามีของบานเช้านั้นมากมายเหลือเกิน ความรักที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนทำให้เธอเหมือนเป็นคนโง่ หากแต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เพราะบานเช้าเป็นคนโง่ แต่เพราะบานเช้ามีความเป็นแม่และภรรยาที่ดีต่างหากเธอจึงต้องยอมกลายเป็นคนโง่

 “ธิดา” เด็กสาวผู้กตัญญู
            ธิดาน้องสาวคนรองต่างบิดาของมีคณาซึ่งเป็นลูกสาวของ บุญสมและบานเช้า เป็นคนกร้านโลก แต่งตัวเกินวัยเป็นอย่างมาก เพราะ บุญสม พ่อผู้ให้กำเนิดบังคับให้ไปค้าประเวณีเพื่อส่งเงินมาจุนเจือครอบครัวตั้งแต่เด็ก แม้โดยเนื้อแท้แล้วธิดาเองก็ไม่ได้อยากไปทำงานขายตัวสักเท่าไหร่ แต่ด้วยคำว่าความกตัญญูค้ำคอ จึงต้องจำทนทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ดังข้อความที่ธิดากล่าวกับผู้เป็นพ่อว่า

พ่อจ๋า...ไหนๆดาก็กลับมาแล้ว ขอดาอยู่บ้านเลย ไม่ต้องกลับไปทำงานได้ไหมจ๊ะพ่อ ดาเบื่อ... (กิ่งฉัตร,2555: 25)

ลึกๆในใจแล้วธิดายังคงเป็นแค่เด็กผู้หญิงที่ถูกบังคับด้วยคำว่า กตัญญู ให้โตเกินวัยเท่านั้น เนื้อแท้ของเด็กสาวยังมีความเป็นเด็กอยู่ ยังกระหายที่จะใช้ชีวิตอย่างเด็กทั่วไป ไม่ใช่ชีวิตที่แปดเปื้อน เป็นดอกไม้ที่ถูกตัดแล้วขยำขยี้ตั้งแต่ยังไม่บานเต็มที่ดีอย่างนี้ (กิ่งฉัตร,2555: 25)

            จนกระทั่งถูกแม่เล้าส่งต่อจากซ่องหนึ่งไปยังอีกซ่อง ประหนึ่งสินค้าปลดระวาง แม้ท้ายที่สุดมีคณาจะสามารถช่วยธิดาให้เลิกขายบริการได้ และเมื่อครั้งมาพักอยู่กับมีคณาผู้เป็นพี่สาว ก็ได้พบกับสันติหลานชายที่เธอรักหนักหนา แต่เขากลับดูถูกเหยียดหยามเธอ เพราะรังเกียจที่เธอทำงานขายตัว
ดังในข้อความที่ว่า

“ป้าไม่มีตาเรอะไง ไม่เห็นหรืออาดาแต่งตัวยังไง เดินเข้าโรงเรียนมีแต่คนมอง แล้วก็หัวเราะกัน เพื่อนมันวิ่งมาบอก...แม่มึงมารับแล้ว” เด็กชายแค้นใจตาวาววับ “พวกมันกำลังจะลืมอยู่แล้ว กำลังจะลืมอยู่แล้วเชียว อาก็ไปอวดนมเสียทั่ว แค่มองก็รู้ว่าไอ้...” (กิ่งฉัตร,2555: 426)

            แต่ชีวิตที่ผ่านมาของหญิงสาวไม่สามารถที่จะกลับมาสดใสได้อีกต่อไป กลายเป็นตราบาปอยู่ในใจที่ล้างอย่างไรก็ไม่มีวันออก หากมองผิวเผินแล้วธิดาเป็นเพียงหญิงสาวที่ขายตัวแลกเงินเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ธิดาเป็นเด็กสาวที่หัวอ่อน รัก เชื่อฟังพ่อแม่ พี่ชายและมีความกตัญญูมากถึงแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าสิ่งที่พ่อและพี่ชายทำเป็นสิ่งไม่ดี แต่ธิดาก็ยังรักและกตัญญูต่อพ่อและพี่ชายอยู่ดี ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าธิดารู้ว่าสิ่งที่พ่อและพี่ชายทำเป็นสิ่งไม่ดีและไม่อยากให้สันติหลานชายมีนิสัยเหมือนพ่อและปู่

“อย่าห่วงเลยพี่มี่ ฉันน่ะรักพ่อรักพี่รงนะ รักมาก แต่ก็ไม่ถึงขนาดไม่รู้ว่าพ่อกับพี่รงแย่แค่ไหน คู่นั้นถือว่าตัวเป็นผู้ชาย...เป็นเทวดามาเกิด ใครที่ไม่มีไอ้เจี๊ยวแบบเขาก็ต้องคอยรับใช้เขาทุกอย่าง ถ้าไม่พอใจก็ด่าว่าทุบตี แม่กับเมียพี่รงหือไม่ได้ มีปากเสียงหน่อยถูกตบหน้าหัน เมาขึ้นมาก็กระทืบเล่นให้เพลินตีน ผัวเก่าฉันก็อีกคน เข้าอีหรอบนี้เป๊ะ วันนี้ฉันถึงดีใจที่มันมีตัวอย่างที่ดีแบบสารวัตร มันจะได้ไม่โตมาเหมือนปู่เหมือนพ่อหรือเหมือนไอ้อดีตตาเขยห่วยแตกของมัน” (กิ่งฉัตร,2555: 425)


“ธารา” ลูกสาวผู้สังเวยชีวิต
                ธารา...น้องสาวคนเล็กต่างบิดาของมีคณาซึ่งเป็นลูกสาวของ บุญสมและบานเช้า ที่ถูกขายไปค้าประเวณีเพื่อหาเงินมาส่งเสียทางบ้านอีกคน แต่ธาราโชคร้ายกว่าธิดาที่เกิดตั้งท้องและถูกบังคับให้ทำเท้งกับหมอเถื่อนจนทำให้เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบหกดี หรืออาจจะโชคดีก็เป็นได้ ที่ธาราไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่บนโลกที่โหดร้ายใบนี้ ที่มีแต่คนเห็นแก่ตัวมองเธอเป็นเพียงสินค้าทำกำไรในแวดวงอโคจร

ธารา...น้องสาวคนเล็กถูกขายไปทำงานได้ไม่ถึงสองปี...เกิดตั้งท้องขึ้นมา แม่เล้าไม่ต้องการให้ดาวเด่นอุ้ยอ้ายน่าเกลียดหรือต้องหยุดพักลาคลอด จึงพาธาราไปทำแท้งเถื่อน และอาจจะเป็นเพราะท้องสาวธาราเองก็ยังเด็กเกินกว่าจะใส่ใจตัวเอง ตอนที่ถูกพาไปบ้านหมอตำแยนั้นเด็กในท้องอายุได้ราวห้าเดือนแล้ว การให้ยาเร่ง บีบเคล้นและขึ้นขย่มไม่ทำให้เด็กออกมาง่ายๆ สุดท้ายเมื่อแม่เล้าตัดสินใจพาเด็กสาวไปโรงพยาบาลนั้น...ธาราก็ทนการตกเลือดไม่ไหว จากไปตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบหกดี (กิ่งฉัตร,2555: 30)
               
                ธาราเองก็เป็นเพียงเด็กสาวหัวอ่อนไม่ต่างกับธิดาพี่สาว ที่รักและกตัญญูต่อพ่อแม่ ถึงแม้การแสดงความกตัญญูของธาราจะทำให้เธอต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควรในที่สุด

ลูกสาวควรเชื่อฟังและกตัญญูต่อพ่อแม่
                เป็นผู้หญิงต้องเชื่อฟังและกตัญญูต่อพ่อแม่ ตัวละครหลายตัวในเรื่องฟ้ากระจ่างดาว เช่น บุญสม ธิดา สันติ มีความเชื่อที่ว่าการที่ลูกสาวไปขายตัวส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่และพี่น้องผู้ชาย ได้ปลูกบ้าน ซื้อรถ ใช้จ่ายต่างๆ เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องทำ คือความกตัญญูที่ลูกๆบ้านไหนในหมู่บ้านเยอรมันก็ต้องทำทั้งนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องน่าอับอายที่ต้องไปขายตัวแลกเงิน แต่คนที่ไม่ไปขายตัวต่างหากคือคนที่อกตัญญู ข้อความดังกล่าวคือพฤติกรรมที่ บุญสมเอ่ยถึงผู้หญิง

ดูนะดู บ้านอื่นเขามีลูกสาวกตัญญู รู้จักทำงานส่งเงินกลับมาได้มากๆ ส่งเงินมาให้พ่อแม่มันปลูกบ้าน ซื้อรถเครื่อง มีทีวีสีเครื่องโตๆดู แต่อีนี่ลูกมึงกลับทำยักท่า ลูกผู้หญิงแท้ๆเรียนไปมากมายทำไม เรียนไปแล้วก็อยู่ดูแลบ้านดูแลลูกผัว อย่างมึงเรียนไปเสียเวลาเปล่า สู้ไปทำงานตั้งแต่ยังเด็กไม่ได้ พอสักยี่สิบสี่ยี่สิบห้าก็เลิก...กลับบ้านทองหยองเต็มตัว ที่บ้านเงยหน้าอ้าปากได้ ถึงตอนนั้นค่อยหาผัว (กิ่งฉัตร,2555: 18)
               
               
                สันติเด็กชายวัยสิบขวบกว่าก็ซึมซับเอาความคิดจากปู่มาเช่นกัน ข้อความดังกล่าวคือพฤติกรรมที่สันติเอ่ยถึงดอกไม้ ลูกสาวของครูอรุณและครูวีณา

“ก็ให้มันไปล้างจาน จะปล่อยให้มันนั่งๆนอนๆ สบายทำไม ไม่ใช่กะหรี่ตัวดังเสียหน่อย จะได้นอนกระดิกตีนสบาย”
เด็กเมืองกรุงสามคนพากันนิ่งอึ้งก่อนข้าวเม่าจะถาม
“นี่แกเปรียบเทียบน้องสาวฉันกับผู้หญิงขายตัวหรือ”
“ผู้หญิงทุกคนเป็นอีตัวทั้งนั้นแหละ โตขึ้นก็ขาย...” (กิ่งฉัตร,2555: 172)

           
            ความคิดของมีคณาเรื่องการแสดงความกตัญญู คือ ความกตัญญูแลเชื่อฟังพ่อแม่เป็นสิ่งที่ควรทำของผู้หญิง แต่ไม่ใช่การไปขายตัว ยอมทิ้งศักดิ์ศรี ลดคุณค่าของตัวเองเพียงเพื่อความเป็นลูกกตัญญู ดังข้อความที่มีคณาและมั่นสินกล่าว ตามลำดับ

ทุเรศ ไอ้การขายตัวนี่เรียกว่ากตัญญูเหรอ หมาน่ะมันยังรักลูก ไม่ขายลูกเพื่อความสบายของตัวเอง เฮอะ...อยากมีบ้านมีรถ ทำไมไม่ออกไปทำงานล่ะน้าสม วันๆเอาแต่กินเหล้า งานการไม่ทำ ให้แม่ไปทำงานไร่ ไปรับจ้างทุกอย่าง ตัวเองนอนสบายที่บ้าน อย่างนี้ทั้งชาติก็อย่าหวังเลยว่าจะมีบ้านมีรถ (กิ่งฉัตร,2555: 18)

พ่อแม่ต้องรักต้องกตัญญูน่ะใช่...แต่เราก็ต้องกตัญญูให้ถูก อย่างน้อยก็ต้องรักตัวเองด้วย อย่าให้ถึงขนาดว่าทำร้ายตัวเอง ต้องขายตัวเพื่อความสุขสบายของพ่อแม่เลย เพราะพ่อแม่บางประเภทน่ะ...สักแต่ว่าทำให้ลูกเกิดเท่านั้น ใช่ว่าจะมีสำนึกของพ่อแม่เพียงพอ (กิ่งฉัตร,2555: 32)

ผู้หญิงไม่คัดค้านผู้ชาย
                ครอบครัวของสันติผู้ชายจะเป็นใหญ่ คำพูดของผู้ชายในบ้านคือคำขาด ผู้หญิงไม่มีสิทธ์ค้านหรือหากค้านก็ค้านเบาๆอย่างเกรงใจ ต่างจากครอบครัวของหิรัณย์ ที่ไม่ว่าจะผู้ชายผู้หญิง มีสิทธ์ที่จะแสดงความคิดเห็นในส่วนของตนได้อย่างเปิดเผย ดังข้อความว่า

“ไม่มีหนังสือให้ท่องหรือยายวัน ไหนว่าอีกไม่กี่วันต้องสอบไง”
“อะไร นี่พี่รันจะไล่วันหรือค่ะ วันไม่ได้เป็นก้างอะไรสักหน่อย”
                                วันทนีย์แกล้งเอะอะ สันติเหลือบมองด้วยความแปลกใจ เขาไม่เคยเห็นความสัมพันธ์แบบนี้ในครอบครัวมาก่อน ผู้หญิงบ้านเขา...ยกเว้นป้าใจยักษ์เสียคน...ไม่มีใครมีปากเสียงกับผู้ชาย ปู่หรือพ่อบอกอะไรก็มีหน้าที่ก้มหน้าก้มตาทำไป ถ้าจะค้านก็ต้องค้านเบาๆ เกรงอกเกรงใจ เหมือนเสียงลมหวิวๆ ไม่ใช่โวยเหมือนพายุอย่างนี้
“ไม่ได้ไล่ แต่เห็นว่าวันพูดมากเหมือนน้ำก๊อก เดี๋ยวความรู้ที่อ่านมาไหลออกทางปากหมด”
“ต๊าย พี่รันหาว่าวันพูดมาก พี่มี่ดูนะคะ พี่รันปากจักแค่ไหน” (กิ่งฉัตร,2555: 260)




ผู้ชายควรได้รับโอกาสมากกว่าผู้หญิง
                ความเชื่อที่ว่าลูกชายควรได้รับการศึกษาสูงๆมากกว่าลูกสาวที่ไม่ต้องเรียนสูงมาก เพราะต่อไปลูกสาวก็ต้องแต่งงานไปอยู่กับสามีและมีแค่หน้าที่ดูแลบ้านและรับใช้ปรนนิบัติสามีเท่านั้น เรียนไปก็สิ้นเปลืองเปล่าๆ ดังข้อความที่บานเช้ากล่าวกับมีคณา

จะเอาเงินมาจากไหนล่ะ ปัญญาแม่กับน้าสมพอจะส่งรงได้คนเดียวเท่านั้น แล้วมันก็ลูกชาย
มีคณามองมารดาอย่างอ่อนใจ ทุกอย่างมาสรุปกันอยู่ตรงนี้เอง...ลูกชาย โอกาสที่มีต้องให้ลูกชายก่อน ลูกสาวนั้นเหมือนทาส เกิดขึ้นมาเพื่อทำงานหาเลี้ยงพ่อแม่เลี้ยงพี่ชายหรือน้องชาย กฎของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่กระมัง ผู้ชายที่ถือว่าเป็นเจ้าบ้าน มีอำนาจเหนือเพศตรงข้าม ยึดเอาแต่ความสบายความสุขของตัวเองเป็นหลัก ลูกผู้หญิงจึงกลายเป็นแค่วัตถุไว้ค่าขายสำหรับตลาดน้ำกามเท่านั้น (กิ่งฉัตร,2555: 26)

                ความคิดเห็นของครูอรุณ ว่าเพศสภาพไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญกับการศึกษา แต่ความขยันและพยายาม ตั้งใจศึกษาต่างหากที่เป็นหนทางสู้ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม ดังในข้อความที่ครูอรุณพูดเชิงติงบานชื่น

“ยังไงฉันฝากหลานด้วยนะคะ ทั้งบ้านตอนนี้ก็มีติมันคนเดียว ปู่มัน พ่อแม่มันก็หวังอยากให้มันเรียนหนังสือเก่งๆ เรียนสูงๆ ยิ่งมันเป็นหลานชายก็อยากให้มันได้ดิบได้ดี”
“ลูกสาวหลานสาวเดี๋ยวนี้เก่งๆ เรียนได้ดีๆ ก็มีถมไปนะครับคุณป้า”
ครูอรุณติงยิ้มๆ เขาสนิทกับมั่นสินพอสมควร ทำให้รู้เรื่องของมีคณาและครอบครัวของหญิงสาวพอประมาณ รู้จนเดาเหตุการณ์ได้  “อย่างมี่ไง เรียนเก่งทำงานเก่ง ผมยังภูมิใจเลยว่ามีลูกศิษย์เก่ง” (กิ่งฉัตร,2555: 48)

ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้าน
                บานชื่นเชื่อเหลือเกินว่าผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้าน ทำกับข้าว ดูแลสามีและลูกชายให้สุขสบาย ปรนนิบัติสามีและลูกด้วยความภักดี แม้ว่าตนเองจะต้องลำบากก็ยอม



แต่มีคณารู้...ถึงบ้านแม่ก็ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หล่อนให้เพื่อปรนเปรอพ่อเลี้ยงและน้องชาย แม่ถูกสอนจนผังใจมาผิดๆ ว่าผู้หญิงนั้นเกิดมาเพื่อรับใช่สามีและลูกชาย ลูกผู้หญิงไม่มีความสำคัญ เป็นแค่สิค้าหรือไม่ก็ข้าทาสที่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับบรรดาพวกผู้ชายในครอบครัวเท่านั้น (กิ่งฉัตร,2555: 145)

                                รวมไปถึงสันติหลานชายวัยเพียงสิบขวบ ก็ได้รับความคิดเรื่องการดูถูกผู้หญิง ว่าต้องทำหน้าที่กวาดบ้านถูบ้าน ทำกับข้าว ผู้ชายมีหน้าที่คอยควบคุม และออกคำสั่งให้ผู้หญิงทำตามที่สั่งเท่านั้น เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่โง่ต้องค่อยสั่งคอยอยู่เรื่อย

 “อ้าว มันเป็นหน้าที่ไม่ใช้หรือ ผู้หญิงก็ต้องทำกับข้าว ซักผ้า กวาดบ้านถูบ้าน”
“แล้วผู้ชายมีหน้าที่อะไร ทำอะไรบ้างในบ้าน”
สันตินิ่งไปนิด ก่อนตอบอย่างหมิ่นแคลน
“ดูแลผู้หญิงให้ทำงานให้ดีๆไง ผู้หญิงน่ะโง่ ทำอะไรไม่ได้สักเรื่อง ต้องให้ผู้ชายบอก” (กิ่งฉัตร,2555: 148)


                ครอบครัวของครูอรุณและครอบครัวของหิรัณย์ ให้สิทธิ์หญิงและชายมีความเท่าเทียมกัน ผู้ชายสามารถทำงานบ้านได้เหมือนผู้หญิง ผู้หญิงก็ทำงานนอกบ้านได้ไม่แพ้ผู้ชายและไม่สอนให้ดูถูกเพศหญิงอีกด้วย ดังข้อความที่ข้าวเม่าลูกชายคนโตครูอรุณอธิบายเรื่องการช่วยกันทำงานบ้านให้สันติฟัง

“ทำไมต้องทำด้วย ให้ดอกไม้ไปทำสิ เราจะออกไปเล่น”
“ดอกไม้ช่วยแม่ล้างจานเมือคืนแล้ว” ข้าวเม่าอธิบาย  “เมือเช้าพี่ก็ล้าง กลางวันนี้เวรติกับข้าวตอกต้องล้างบ้าง (กิ่งฉัตร,2555: 171)

                และดังข้อความที่หิรัณย์อธิบายถึงหน้าที่ ว่าถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ชายแต่ก็สามารถทำงานบ้านได้ทั้ง ล้างจาน ซักผ้า และผู้หญิงเองก็สามารถทำงานนอกบ้านที่ผู้ชายทำได้เหมือนกัน

เขาพูดตามความเชื่อเดิมว่า ผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน ให้เก็บมะเฟืองมะม่วงได้ แต่ไม่ควรใช้ให้ซักผ้าถูบ้าน ตำรวจหนุ่มตอบหลานชายหล่อนว่า
“เป็นผู้ชายทำงานบ้านได้เหมือนกัน ไม่แปลกหรอกติ”
“ตำรวจก็ทำเหรอ” สันติถามท่าทาย
“ทำ สมันเล็กๆ ลุงต้องผลัดกับพี่ชายทำทุกอย่างแหละ ช่วยแม่ล้างจาน กวาดลานบ้าน บางทีถ้าไม่มีคนก็ต้องซักผ้ารีดผ้าเอง”
“แล้วน้องสาวของลุงล่ะ เป็นผู้หญิงแท้ๆ ทำไมไม่ทำงาน ปล่อยให้ผู้ชายทำ ไม่ได้เรื่องเลย”
“อาวันเขาลูกคนเล็ก พ่อโอ๋มาก ไม่ต้องทำอะไรหรอก”
“แต่เขาเป็นผู้หญิงนะ” สุ้มเสียงเด็กชายประหลาดใจจริงๆ
“เป็นผู้หญิงนั่นแหละพ่อแม่ถึงต้องถนอม” หิรัณย์ตอบกลั้นหัวเราะ
“คนเรานะติ แต่ละบ้านมีอะไรไม่เหมือนกันหรอก สังคมก็เหมือนกัน บ้านติอาจจะคิดว่าผู้หญิงต้องทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว แต่ในสังคมใหญ่ที่กว้าง...กว้างกว่าบ้านติมาก ผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกันกันหมด ไม่มีการเกี่ยงว่าเธอต้องทำนั่นทำนี่เพราะเป็นผู้หญิงหรอก ติเองมาอยู่กับป้าเขาตั้งนานก็น่าจะดูป้าเขาเป็นตัวอย่างนะ ป้าเราเขาเก่ง งานข่าวยากๆป้าเราเขาทำได้ ทำได้ดีกว่าผู้ชายอีกนะ แล้วอย่างนี้ติจะมาเกี่ยงว่า งานนี้ผู้หญิงทำ งานนั้นผู้ชายทำไม่ได้หรอก” (กิ่งฉัตร,2555: 272)

คุณค่าจากฟ้ากระจ่างดาว
                ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นวนิยายเรื่องฟ้ากระจ่างดาว โดดเด่นที่สุดคือ สะท้อนให้เห็นคุณค่าของสิทธิสตรีที่เพศหญิงควรได้รับควรได้รับจากสังคม ปัญหาการค่าประเวณี เรื่องโสเภณีเด็กและการไม่เสมอภาคทางเพศ เป็นประเด็นหลักของเนื้อหาที่ กิ่งฉัตร ผู้เขียนต้องการสะท้อนด้านมืดด้านนี้ให้สังคมมองเห็น รู้ต้นตอ เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง ว่าโสเภณีล้วนแล้วไม่ได้รักและเต็มใจในการประกอบอาชีพที่ขายศักดิ์ศรีเลยแม้แต่น้อย หากแต่บางคนผืนใจกระทำเพราะต้องกตัญญู กล้ำกลืนหาเงินเพื่อมาจุนเจือครอบครัว ดังเช่นความคิดของธิดาหญิงกร้านโลกแสนกตัญญู

ธิดาฟังแค่นี้หล่อนก็สะอื้นฮัก นึกถึงวันนั้นที่มีคณาชวนให้มาอยู่ด้วย ถ้ากล้าเพียงกล้าที่จะเป็น นังอกตัญญูตอบรับไป หล่อนคงไม่เป็นอย่างวันนี้ หากนั่นแหละ...ถึงย้อนเวลากลับไปได้ ธิดาก็คงทำแบบเดิม ตัดสินใจแบบเดิม หล่อนรักพ่อแม่มากกว่ารักชีวิตตนเอง แม้ว่าพ่อจะรักหล่อนเท่าปลายเล็บเขา...เพราะหล่อนเป็นแค่ผู้หญิงก็ตาม (กิ่งฉัตร,2555: 429)

                นอกจากคุณค่าด้านสิทธิสตรีแล้วฟ้ากระจ่างดาวยังให้ความสำคัญในของความอบอุ่นในครอบครัวไปจนถึงการอบรบลูกหลานให้เป็นคนดีของสังคมและการรักลูกให้ถูกทาง เรียกได้ว่าเป็นหนังสื่อที่ให้แง่คิด ให้คุณค่า เหมาะแก่การศึกษาทั้งเพศหญิงและเพศชาย


บรรณานุกรม

กิ่งฉัตร.(2555).ฟ้ากระจ่างดาว.พิมพ์ครั้งที่9 กรุงเทพฯ : อรุณ